วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีไทย


วันลอยกระทง

               วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
              ในวันลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำ "กระทง" จากวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตบแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ (ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาด้วย
               สำหรับประเทศไทยปัจจุบัน มีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นมากอย่างยิ่งในวันลอยกระทง ผลสำรวจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 พบว่า เทศกาลลอยกระทงชักนำให้วัยรุ่นไทยร่วมประเวณีกันมากที่สุด มีความเป็นไปได้ที่เยาวชนไทยร้อยละ 38 จะถูกล่วงละเมิดทางเพศในวันลอยกระทง ทั้งนี้ เพราะเทศกาลลอยกระทงจัดในยามค่ำคืน หนุ่มสาวพบเจอกันได้ง่ายและมักเสพสุรายาเมากัน นอกจากนี้ มหาเถรสมาคมยังเปิดเผยด้วยว่า ในภาคอีสานมักจัดงานวัดซึ่งประกอบด้วยการเสพของมึนเมาและจัดแสดงอนาจารในคืนลอยกระทง

ประวัติ
    ภาคเหนือตอนบน นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบัลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)
        จังหวัดเชียงใหม่ มีประเพณี"ยี่เป็ง"เชียงใหม่ ในทุกๆปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า
        จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย"
        จังหวัดสุโขทัย ขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง
    ภาคอีสาน ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น
        จังหวัดร้อยเอ็ด มีชื่องานประเพณีว่า "สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป" ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคา ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง การประกวดประทีปโคมไฟและกระทงอันสวยงาม มีการจำลองแห่หัวเมืองสาเกตุนครทั้ง11 หัวเมือง
        จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล
        จังหวัดนครพนม จะตกแต่งเรือแล้วประดับไฟ เป็นรูปต่างๆ เรียกว่า "ไหลเรือไฟ"โดยเฉพาะที่จังหวัดนครพนมเพราะมีความงดงามและอลังการที่สุดในภาคอีสาน
    ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด
        กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง
        จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา
    ภาคใต้ อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา

ความเชื่อเกี่ยวกับวันลอยกระทง
    เป็นการขอขมาพระแม่คงคา ที่มนุษย์ได้ใช้น้ำ ได้ดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ
    เป็นการสักการะรอพระพุทธบาท ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ประทับรอยพระบาทไว้หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย เป็นการลอยความทุกข์ ความโศกรวมถึงโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปกับแม่น้ำชาวไทยในภาคเหนือมีความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาพระอุปคุต ตามตำนานเล่าว่า พระอุปคุตทรงสามารถปราบพระยามารได้
แหล่งอ้างอิง
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%87



ประเพณีสารทเดือนสิบ

                ประเพณีสารทเดือนสิบเป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อซึ่งมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเข้ามาในภายหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชน และญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้ เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
               ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบจะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปีแต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะ นิยมทำบุญกันมากคือวันแรม 13-15 ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบโดยในส่วนใหญ่แล้วจะตรงกับเดือนกันยายน

  

การจัดหฺมฺรับ

          เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเรียกกันว่า “วันหลองหฺมฺรับ” แต่ละครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะร่วมกันนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาจัดเป็นหฺมฺรับ /หมะหรับ/ สำหรับการจัดหฺมฺรับนั้นไม่มีรูปแบบที่แน่นอน จะจัดเป็นรูปแบบใดก็ได้ แต่ลำดับการจัดของลงหฺมฺรับจะเหมือน ๆ กัน คือ เริ่มต้นจะนำกระบุง กระจาด ถาด หรือกะละมัง มาเป็นภาชนะ แล้วรองก้นด้วยข้าวสาร ตามด้วยหอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล และเครื่องปรุงอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ ต่อไปก็ใส่ของจำพวกอาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม และผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน ๆ เช่น ฟักเขียว ฟักทอง มะพร้าว ขมิ้น มัน ลางสาด เงาะ ลองกอง กล้วย อ้อย ข้าวโพด ข่า ตะไคร้ ฯลฯ จากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ไต้ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าด ไม้ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย และเครื่องเซี่ยนหมาก สุดท้ายก็ใส่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการจัดหฺมฺรับ คือ ขนม 5 อย่าง ( บางท่านบอกว่า 6 อย่าง ) ซึ่งขนมแต่ละอย่างล้วนมีความหมายในตัวเอง คือ ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณ ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ ขนมดีซำ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น ในกรณีที่มีขนม 6 อย่าง ก็จะมีขนมลาลอยมัน ซึ่งใช้แทนฟูกหมอน เข้าไปด้วย 
  

การยกหฺมฺรับ
           ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งเป็นวันยกหมฺรับ ต่างก็จะนำหมฺรับพร้อมภัตตาหารไป วัด โดยแต่ละคนจะแต่งตัวอย่างสะอาดและสวยงาม เพราะถือเป็นการทำบุญครั้งสำคัญ วัดที่ไปมักจะเป็นวัดใกล้บ้านหรือวัดที่ตนศรัทธา การยกหมฺรับไปวัดอาจต่างครอบครัวต่างไปหรืออาจจัดเป็นขบวนแห่ ทั้งนี้เพื่อต้องการความสนุกสนานรื่นเริงด้วย วัดบางแห่งอาจจะจัดให้มีการประกวดหฺมฺรับในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ได้จัดให้มีขบวนแห่หมฺรับอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาในงานเดือนสิบทุก ๆ ปี โดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างส่งหฺมฺรับของตนเข้าร่วมขบวนแห่และ ร่วมการประกวด ซึ่งในช่วงเทศกาลนี้สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวจังหวัดนครศรี ธรรมราชมากยิ่งขึ้น เมื่อขบวนแห่หฺมฺรับมาถึงวัดแล้ว ก็จะร่วมกันถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน “ตั้งเปรต” เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในอดีตมักตั้งเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน “หลาเปรต” โดยอาหารที่จะตั้งนั้นจะเป็นขนมทั้ง 5 หรือ 6 อย่างดังกล่าวข้างต้น รวมถึงอาหารอื่น ๆ ที่บรรพชนชอบ ตั้งเปรตเสร็จแล้ว พระสงฆ์จะสวดบังสุกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน “ชิงเปรต” โดยการแย่งชิงอาหารบนหลาเปรต ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้วยังมีความเชื่อว่า หากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เสร็จสิ้นการชิงเปรตต่างก็แยกย้ายกลับบ้านด้วยใจอิ่มบุญ


แหล่งอ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น